การขอบคุณ เมื่อประมาณ 7 – 8 ปีก่อน (ช่วงปี 2552) เมื่อครั้งที่ผมได้พบว่า มีเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องง่ายแสนง่ายที่สามารถทำให้ผมรู้สึกดีได้อย่างมากมายมหาศาลเลย คือ เมื่อผมได้ทดลองเขียนขอบคุณลงไปในสมุดบันทึก โดยเริ่มจาก 5 ข้อก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ผมรู้สึกทึ่งกับความรู้สึกที่ได้รับจากการแค่ลงมือเขียนง่ายๆ แบบนี้  “อะไรบ้างที่ผมรู้สึกขอบคุณได้ในขณะนี้”

บุคคลแรกที่ผมได้ทดลองให้ทำสิ่งเดียวกันคือ คุณแม่ของผม จำได้ว่า ในครั้งนั้นผมโทรศัพท์หาคุณแม่ แล้วให้ท่านหากระดาษปากกามาลงมือเขียน จากนั้นผมเกิดความคิดว่า น่าจะนำไปใช้ในเวิร์คชอปกระบวนการเรียนรู้เพื่อสุขภาพของผมได้

ถ้าจะมองจากองค์ความรู้เรื่อง “สมองสามชั้น” ของพอล แมคลีน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นองค์ความรู้ที่เก่าหน่อย เพราะพูดถึงกันมาตั้งแต่ยุค 80 แล้ว แต่ก็ถือว่าเป็นองค์ความรู้สำคัญ ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเป็นพื้นฐานของการต่อยอดความรู้เรื่องสมองกับพฤติกรรมมนุษย์ในเวลาต่อมา

กล่าวคือ สมองชั้นนอกของมนุษย์ (Human Brain) คือสมองที่เกี่ยวข้องกับความคิด สมองชั้นกลาง (Mammalian Brain) เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก และสมองชั้นในสุด (Reptile Brain) เป็นสมองเกี่ยวกับการควบคุมการทำงานของร่างกาย

ถ้าเราลองตั้งสมมุติฐานว่า สมองจะทำงานได้อย่างดีและเป็นองค์รวม เกิดประสิทธิผลสูงสุดได้นั้น จะต้องเป็นความสมดุลของการใช้สมองทั้งสามส่วน กล่าวคือ มนุษย์ในยุคปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเลือกใช้ “ความคิด”มากเกินไปจนเสียสมดุล ไม่ยอมใช้ - ไม่อยาก ใช้ - ไม่กล้าใช้หรือใช้ไม่เป็น ทั้งในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและร่างกาย สมมุติฐานคือ ถ้าเราสามารถใช้สมองส่วนอารมณ์ความรู้สึกและร่างกายให้มากขึ้น บางทีชีวิตของเราอาจจะมีอะไรบางอย่างดีขึ้น

“การขอบคุณ” 

เป็นการเริ่มต้นของการใช้พลังงานด้านบวกของหัวใจ ที่เชื่อมโยงกับการทำงานของสมองส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์

ลองสังเกตดูนะครับ เมื่อเราเริ่มต้นขอบคุณอะไรบางอย่างหรือใครสักคน เราจะเกิดความรู้สึกอุ่นๆ ที่บริเวณทรวงอกของเรา รู้สึกดีรู้สึกว่าหัวใจของเราอิ่มเอิบพองโตมากขึ้น แน่นอนว่าในทางปฏิบัติสำหรับหลายๆ ท่านถ้าเขียน 5 ข้ออาจจะไม่ยากเกินไป แต่ถ้าเพิ่มเป็น 10 ข้อหรือ 20 ข้อ หลายๆ ท่านอาจจะเริ่มรู้สึกว่ายาก

ในครั้งกระโน้น เบื้องต้นผมให้คุณแม่ลองเขียน 10 อย่าง ท่านนึกได้เพียงสองสามข้อเท่านั้น บอกว่า “นึกไม่ออกเลย” ว่าจะมีอะไรน่าขอบคุณบ้าง

จำได้ว่าผมค่อยๆ ชี้นำคุณแม่ด้วยคำถามว่า ตื่นเช้ามาแม่ทำอะไรไปบ้างล่ะ ท่านบอกว่าสวดมนต์ แล้วก็ร้องอ๋อว่า อยากขอบคุณพระพุทธเจ้า ท่านหัวเราะด้วยความดีใจที่ค่อยๆ นึกออก จากนั้นล่ะ ท่านบอกว่ากินข้าวเช้า ผมถามต่อว่า แม่ไม่อยากขอบคุณข้าวปลาอาหารด้วยหรือ ท่านตอบว่า อะไรกันขอบคุณเมล็ดข้าวได้ด้วยหรือ พร้อมกับเสียงหัวเราะที่ดังขึ้น

แม้ว่ากว่าจะทำให้คุณแม่ของผมเขียนขอบคุณได้ครบ 10 ข้อจะใช้เวลาพอสมควรแต่ผมก็รู้สึกมีความสุขมากกับการได้ช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีๆ

ในช่วงนั้นผมจำได้ว่า ผมอยากรู้มากเลยว่าคนทั่วไปจะสามารถขอบคุณอะไรได้บ้าง ในเบื้องต้นผมออกไปสัมภาษณ์ผู้คนที่ผมไม่รู้จักตามที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยลองตั้งเพียงแค่ 5 อย่าง เพราะมีประสบการณ์จากคุณแม่ของผมว่า ถ้าเป็น 10 อย่างอาจจะยากเกินไป และพบว่า การพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จักไม่ใช่เรื่องง่ายและได้ข้อมูลมาน้อยเกินไป

ผมขอให้เพื่อนหรือคนรู้จักหลายท่านที่เป็นครูบาอาจารย์ ช่วยให้นักเรียนนักศึกษาของเขาเขียนขอบคุณสักไม่กี่นาทีก่อนเริ่มคลาสเรียน จึงได้ข้อมูลมาหลายร้อยข้อและพบว่ามีอะไรบางอย่างเชื่อมโยงกับอายุของคนเหล่านั้น

คนสูงวัยมักจะมองการขอบคุณเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นนามธรรมมากกว่า อาจจะคล้ายๆ กับคุณแม่ของผมที่ตอบเป็นข้อๆ และนึกออกได้ยากในเบื้องต้น เช่น หญิงวัย 67 ปีท่านหนึ่งบอกว่า เธอขอบคุณความเข้มแข็งที่เธอมี อื่นๆ เธอนึกไม่ออกและไม่คิดว่าจะต้องขอบคุณอาหารที่กินมาเมื่อเช้านี้ “ไม่เห็นจะต้องขอบคุณเลยก็ซื้อมากินด้วยน้ำพักน้ำแรงของฉันนี่”

ในขณะที่คนอายุน้อยกว่ากลับมองสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ง่ายกว่า เช่น ชายวัย 23 ปีขอบคุณเจ้านายที่มีงานให้เขาทำ ขอบคุณแฟนที่ช่วยให้เขากระตือรือร้น มีกำลังใจในการทำงาน ขอบคุณงานที่ทำอยู่ ขอบคุณพ่อแม่ ขอบคุณเพื่อนๆ ที่คอยรับฟังเรื่องราวของเขา

นักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่จะเขียนได้ครบ 5 ข้อ โดยเกือบทั้งหมดขอบคุณพ่อแม่ ข้อมูลที่ได้มาเหล่านั้น แม้จะไม่มากมาย แต่ก็ได้ช่วยให้ผมพอจะเข้าใจมุมมองของคนหลายวัย หลายอาชีพ ก่อนที่ผมจะตัดสินใจนำมาใช้อย่างจริงจังในเวิร์คชอปของผม เพราะได้ช่วยให้ผมเข้าใจว่า

บางทีเรื่องที่ผมคิดว่าง่าย อาจจะไม่ได้ง่ายนักสำหรับคนอื่น ทำให้ผมต้องระมัดระวังและค่อย ๆ หาทางใช้เครื่องมือในการขอบคุณนี้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความเชื่อมั่นว่า “การขอบคุณเป็นทักษะที่ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับคนไทย” เพียงแต่ว่าอาจจะต้องมีการเชื้อเชิญที่ดีพอสมควร

บางคนอาจต้องการความช่วยเหลือบางอย่างที่จะทำให้ “น้ำพุแห่งความขอบคุณ”ของพวกเขาสามารถพุ่งทะลุขึ้นมาสู่ผิวดินได้

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น “การเขียนขอบคุณ” อาจจะไม่ง่ายนัก และอาจจะรู้สึกแปลกๆ ที่ต้องขอบคุณ จึงอยากให้ “ลองหาเรื่อง” ขอบคุณไปเรื่อยๆ แล้วจะพบว่ารายการขอบคุณจะค่อยๆ มีมากขึ้น ผมขอยืนยันว่า มีความเป็นไปได้และจะเกิดประโยชน์คุ้มค่ามากมายกับการทดลองเขียนขอบคุณ

เพราะการขอบคุณเป็นอารมณ์ด้านบวกที่มีพลังงานจำเพาะและทรงพลังมากทุกคนมีอยู่ในตัวเองกันอยู่แล้ว โดยการขอบคุณสามารถนำมาสู่การหัวเราะ ความอบอุ่น และสุขสงบได้เป็นอย่างดี แล้วเราจะเห็นความสวยงามในชีวิตของเรามากขึ้น

นายแพทย์วิธาน ฐานะวุฑฒ์ เป็นศัลยแพทย์อิสระ นักเขียน และนักบรรยายด้านสุขภาพใจและจิตวิญญาณผลงานเขียนเล่มล่าสุดคือ Service Is Meditation

ข้อมูลจาก คอลัมน์ MIND UPDATE นิตยสารชีวจิต ฉบับ 445

SOURCE : www.goodlifeupdate.com